แนะนำกล้อง แต่ละประเภท

ตอนแรกคิดว่าจะไม่เขียนเรื่อง กล้องถ่ายรูป เพราะเข้าใจว่าใครๆ ก็น่าจะรู้แต่มีอยู่วันหนึ่งไปนั่งเล่นร้านขายกล้องที่สนิทกัน มีสาวสวยเดินเข้ามาถามพนักงานว่

สาวสวย : พี่คะจะไปเที่ยว อยากได้กล้องไปถ่ายรูปวิวค่ะ  แนะนำหน่อยค่ะ

พนักงาน : เอาเป็นแบบไหนดีครับ compact หรือ DSLR

สาวสวย : มันคืออะไรคะ ต่างกันยังไง

พนักงาน : compact คือ (พนักงานอธิบายไปเรื่อย)

สาวสวย : แล้วมันถ่ายวิวได้มั้ยคะ

ตัดภาพมาที่เราหน้าตาถึงบางอ้อ “อ๋อ เข้าใจไปเองนี่หว่าว่าใครๆ ก็รู้

นี่จึงเป็นเหตุให้เราอยากเขียนให้คนที่ไม่มีความรู้เรื่องกล้องได้เข้าใจภาพรวมคร่าวๆ รวมถึง แนะนำกล้อง ที่เราใช้ถ่ายภาพทั้งหมดที่เห็นในบล็อคของเรา และขอตอบคำถามน้องคนสวยว่ากล้องอะไรก็ถ่ายวิวได้ทั้งนั้นต่างกันที่หน้าตาและวิธีใช้เท่านั้นเอง


กล้องฟิล์ม


แนะนำกล้อง แบบแรกกันก่อน ก่อนที่จะมาเป็นกล้องดิจิตอลในปัจจุบันมีกล้องที่เกิดมาก่อนคือกล้องฟิล์ม กล้องฟิล์มมีวิวัฒนาการมาเป็นร้อยปีก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นดิจิตอลในช่วง 10 กว่าปีนี้เอง หลายๆ คนน่าจะมีโอกาสได้ใช้ กล้องที่ใช้ฟิล์มมีหลายแบบทั้ง Large format , Medium format , Rangefinder และที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ SLR กล้องแบบนี้สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้เรียกว่า single lens reflex (SLR) reflex แปลว่าสะท้อน หมายความว่า เมื่อเรามองเข้าไปที่ช่องมองภาพ (Viewfinder) เราจะเห็นภาพผ่านเลนส์โดยกระจก (Mirror) สะท้อนภาพที่อยู่ภายในตัวกล้อง เมื่อเรากดชัตเตอร์ถ่าย กระจกจะยกขึ้น แสงจะเข้าสู่ฟิล์ม เป็นอันจบกระบวนการการบันทึกภาพ แล้วจากนั้นจึงนำฟิล์มไปล้างและอัดเป็นรูปหรือสมัยนี้นำฟิล์มที่ล้างแล้วไปสแกนและเปิดดูในคอมได้

แนะนำกล้อง กล้องฟิล์ม

Nikon Fm2n

ในรูปคือกล้อง Nikon รุ่น FM2n เป็นกล้องที่ได้รับความนิยมมากทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ตัวกล้องเป็นโลหะ ระบบเป็นกลไกล้วนยังไม่มีชิพประมวลผลมาช่วยและไม่มีโหมดออโต้ แมนวลล้วนๆ ดังนั้นผู้ใช้ต้องมีความรู้ในการถ่ายภาพเพราะว่าต้องตั้งค่าทุกอย่างด้วยตัวเอง ข้อดีคือ ทนและดูแลรักษาง่าย
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปีก็ยังสามารถซื้อฟิล์มมาใส่ถ่ายได้เหมือนเดิม ฟิล์มที่นำมาใส่คือฟิล์ม 35 มม. มีทั้งสีและขาวดำ ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมได้แก่ Kodak Fuji ลักษณะภาพและสีจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ ชอบอันไหนต้องไปลองดูเอาเองนะ

ดูรีวิวที่เราพกกล้องฟิล์มไปเที่ยวกัน >>

อยุธยา..เมืองเก่ากับกล้องฟิล์มตัวเก่า : https://www.adayscape.com/ayutthaya/

บางกะเจ้า กับ activity เล็กๆ adventure เบาๆ : https://www.adayscape.com/bangkachao/

 

เมื่อยุคดิจิตอลมาถึงสามารถถ่ายและเห็นภาพข้างหลังกล้องได้เลย การจะไปใส่ฟิล์ม ถ่ายแล้วต้องเอาไปล้างไปอัด กว่าจะได้ดูภาพมันไม่ทันใจ ความนิยมเลยตกลงไป แต่ในช่วง 1-2 ปีนี้กล้องฟิล์มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากวัยรุ่นทั้งในไทยและต่างประเทศ เหตุผลที่กล้องฟิล์มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ส่วนหนึ่งบอกว่ากล้องดิจิตอลมันง่ายไปถ่ายแล้วเห็นเลยไม่ได้ลุ้น (เวลาเปลี่ยนความคิดก็เปลี่ยน!!) และที่สำคัญกล้องฟิล์มวินเทจมันหน้าตาดี ในปัจจุบันมีผู้ผลิตกล้องดิจิตอลหลายค่ายผลิตกล้องที่หน้าตาวินเทจออกมาขายและขายดีมาก หลายคนซื้อเพราะเหตุผลนี้ก่อนที่จะดูสเปคซะอีก หากใครสนใจกล้องฟิล์มในกรุงเทพสามารถหามือสอง (มือหนึ่งไม่น่าจะมีผลิตแล้ว) ได้ที่ Mega Plaza วังบูรพา ชั้น 5 หรือหาซื้อจาก ebay ก็ได้ ส่วนตัวแนะนำว่าถ้าไม่มีความรู้หาซื้อตามร้านน่าจะดีกว่าเพราะได้ดูของ ได้ลอง มีอะไรไม่เข้าใจจะได้ถามคนขายได้ กล้องที่นิยมหามาใช้กัน ได้แก่ Nikon FM2, Canon AE-1, Minolta SRT 101, Pentax K1000

Mega Plaza วังบูรพา : www.megaplazawangburapa.com


กล้องดิจิตอล (DSLR)


แนะนำกล้อง ตัวต่อมา เป็นกล้องดิจิตอลแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ (Digital single lens reflex : DSLR) ได้รับการพัฒนามาจากกล้องฟิล์ม (SLR) โดยใช้เซนเซอร์ในการรับแสงแทนฟิล์ม
มีชิพประมวลผลแปลงค่าสัญญาณที่ได้จากเซนเซอร์มาสร้างเป็นภาพ มีโหมดออโต้ให้ใช้งานและยังใช้โหมดเแมนวลเพื่อตั้งค่าต่างๆ ได้เอง มีระบบออโต้โฟกัส เพื่อช่วยให้โฟกัสได้แม่นยำและเร็วขึ้น ต่างจากกล้องฟิล์มที่ต้องหมุนเลนส์หาความชัดด้วยตัวเอง ทำให้ช้าและบางครั้งอาจจะโฟกัสผิดจุดได้ ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ต่างกับกล้องฟิล์มที่ไม่ต้องใช้ก็นำมาถ่ายได้เลย แต่ยังใช้กระจกสะท้อนในการมองภาพเช่นเดิม เปลี่ยนเลนส์ได้ ข้อดีของการเปลี่ยนเลนส์ได้คือสามารถเลือกช่วงความยาวโฟกัสของเลนส์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ไปเที่ยวในเมืองที่มีตึกสูงหรือถ่ายวิวทั่วไป เลนส์ที่ให้มากับกล้องอาจจะเก็บภาพได้ไม่หมดตามที่เราต้องการ เราจึงต้องเปลี่ยนเป็นเลนส์มุมกว้าง (Wide) หรืออยากจะถ่ายสิ่งที่ไกลๆ ก็ต้องใช้เลนส์เทเล (Tele) เพื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น เลนส์เทเล จริงๆ แล้วไม่ได้เรียกว่า เลนส์ซูม นะ เลนส์ซูม หมายถึงเลนส์ที่เปลี่ยนช่วงทางยาวโฟกัสได้เช่น 18-55 mm , 70-200mm ส่วนเลนส์ที่เปลี่ยนทางยาวโฟกัสไม่ได้เรียกว่าเลนส์ฟิกซ์ (Fix)

ตาของคนเราข้างเดียวมีมุมรับภาพเท่ากับเลนส์ 50mm เรียกว่าเลนส์นอมอล (Normal) ส่วนที่มากกว่า 50 mm เรียกว่าเลนส์เทเล น้อยกว่าเรียกว่าเลนส์มุมกว้าง (Wide) ไหนๆ ก็บอกไปแล้วว่าตาข้างเดียวเท่ากับ 50 mm เดี๋ยวจะมีคนอยากรู้ว่าแล้ว 2 ข้างล่ะเท่ากับเท่าไร บอกต่อก็ได้ว่าตา 2 ข้างเท่ากับ 35 mm เราสามารถนำเลนส์ตั้งแต่สมัยกล้องฟิล์มมาใส่ในกล้องดิจิตอลได้ บางยี่ห้อใส่ได้เลยโดยตรง แต่ถ้าใส่โดยตรงไม่ได้ ต้องใช้อแดปเตอร์มาต่อก่อนจึงจะใส่ได้

กล้อง DSLR ใช้เซนเซอร์รับภาพแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ ตามขนาดคือใช้เซนเซอร์เท่ากับฟิล์ม 35 มม. เรียกว่ากล้องฟูลเฟรม และเซนเซอร์อีกแบบที่มีขนาดเล็กกว่าเรียกว่ากล้องตัวคูณ (APS-C) คือ เมื่อเรานำกล้องตัวคูณมาถ่าย ช่วงทางยาวโฟกัสที่บอกบนเลนส์ และมุมรับภาพ จะไม่เท่ากับที่ใช้กับกล้องฟูลเฟรม เช่น ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 100 mm กล้อง Canon ต้องคูณ 1.6 เท่ากับว่าช่วงทางยาวโฟกัสและมุมรับภาพที่แท้จริง จะเท่ากับ 160 mm ส่วนNikon คูณ 1.5 เท่ากับ 150 mm กล้องตัวคูณจะได้เปรียบกล้องฟูลเฟรมเมื่อถ่ายวัตุที่อยู่ไกล จะได้ขนาดที่ใหญ่กว่าเมื่อยืนเท่ากัน

เซนเซอร์ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของกล้องดิจิตอล เซนเซอร์ฟูลเฟรมให้คุณภาพโดยรวมที่ดีกว่า แบบตัวคูณไม่ว่าจะเป็นสี มิติความชัดตื้น (หน้าชัดหลังเบลอมากกว่า) สัญญาณรบกวน (Noise) เม็ดจุดสีเล็กๆ ที่มองเห็นได้ในภาพเมื่อใช้ความไวแสง (ISO) สูงๆ ดังนั้นกล้องฟูลเฟรมส่วนมากจะมีราคาสูง

บนเซนเซอร์จะมีเม็ด pixel จำนวนมากอยู่ บอกถึงความละเอียดและขนาดของภาพ เช่น Canon 6D มีความละเอียด 20 ล้านพิกเซล ในยุคแรกๆของกล้องดิจิตอลแต่ละค่ายจะแข่งกันผลิตกล้อง และโฆษณาเกทับกัน ผลิตกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่าอีกค่าย จนเรียกว่าสงครามพิกเซล และสงครามจบลงตั้งแต่ผลิตกันได้ที่ 8-10 ล้านพิกเซลแล้ว ในปัจจุบันแทบจะไม่ต้องไปใส่ใจกับจำนวนพิกเซลแล้ว เพราะแค่ 12 ล้านพิกเซลก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆ ไป

กล้อง DSLR สำหรับมืออาชีพ และระดับผู้ใช้งานทั่วไปนอกจากขนาดเซนเซอร์แล้ว ยังมีเรื่องระบบโฟกัสที่กล้องระดับมืออาชีพจะแม่นยำและรวดเร็วกว่า ปุ่มควบคุมต่างๆ จะมีมากและใช้งานได้คล่องตัว ในขณะที่กล้องระดับใช้งานทั่วไปอาจต้องเข้าไปปรับที่หน้าจอเมนู วัสดุที่ใช้ทำตัวกล้องระดับมืออาชีพจะเป็นโลหะที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศและพื้นที่ต่างๆ ได้ดี

แนะนำกล้อง DSLR

Canon 6D

ในรูปคือ Canon 6D เป็นกล้องฟูลเฟรม ที่มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรมรุ่นอื่นๆ ความละเอียดประมาณ 20 ล้านพิกเซล จุดโฟกัส 11 จุด มี noise น้อยเมื่อใช้ ISO สูง มี Wi-Fi สำหรับส่งรูปและถ่ายรูปผ่านแอพ มี GPS บอกตำแหน่ง

Canon : www.canon.co.th


กล้องมิเรอร์เลส (Mirrorless)


กล้องมิเรอร์เลส (Mirrorless) คือ กล้องถ่ายรูป ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากกล้อง DSLR เปลี่ยนเลนส์ได้เหมือนกัน แต่จุดที่สำคัญ คือ ตัดกระจกสะท้อนภาพออก ทำให้ได้ตัวกล้องที่มีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก เลนส์ที่ใช้ก็มีขนาดเล็กลงตามไปด้วย เมื่อไม่มีกระจกสะท้อนภาพจำเป็นต้องใช้จอ LCD ในการถ่ายภาพ หรือใช้ช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Viewfinder) ผลที่ตามมาทำให้แบตหมดเร็ว ควรจะซื้อแบตเพิ่มเลยหากจะใช้กล้องมิเรอร์เลส ส่วนใหญ่ใช้เซนเซอร์แบบตัวคูณ (APS-C) แต่มี Sony ที่ผลิตกล้องมิเรอร์เลสที่ใช้เซนเซอร์แบบฟูลเฟรม (ข้อมูลปี 2015) ยังมีเซนเซอร์อีกแบบคือ Micro Four Thirds เป็นเซนเซอร์ที่มีสัดส่วนภาพ 4:3 ต่างจากปกติที่เป็น 3:2 ข้อดีของเซนเซอร์แบบนี้คือ สามารถใช้เลนส์ร่วมกันได้หมดถึงแม้ว่าจะคนละยี่ห้อก็ตาม ปัจจุบันยี่ห้อที่ Micro Four Thirds ได้แก่ Olympus, Panasonic

แนะนำกล้อง Mirrorless

Fuji XE-2

ในรูปคือกล้องมิเรอร์เลส Fuji X-E2 อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าหลายยี่ห้อผลิตกล้องหน้าตาวินเทจแล้วขายดี ซึ่งเราก็ตกเป็นเหยื่อการตลาดเหมือนกัน นอกจากจะหน้าตาดีแล้วเหตุผลที่เราเลือกตัวนี้เพราะเมื่อเทียบกับ Fuji X-A2, X-M1 คือมีปุ่มตั้งค่าต่างๆ สะดวกกว่า เลนส์ที่ให้มากับกล้องคุณภาพดี รูรับแสงกว้างกว่า โฟกัสเร็ว ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล มี Electronic Viewfinder (เวลาอยู่กลางแดดแล้วมอง LCD ไม่ชัดมันช่วยได้) ถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็ว มี Wi-Fi ส่งรูปผ่านแอพ

FujiFilm : www.fujifilm.co.th


กล้องคอมแพค (Compact)


กล้องคอมแพค (Compact) เป็นกล้องขนาดเล็กกะทัดรัดพกพาสะดวก เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ มีทั้งเลนส์ฟิกซ์และเลนส์ซูม กล้องคอมแพคที่ซูมได้จะมีการซูม 2 แบบ คือ ออปติคอลซูม (ซูมที่เลนส์จริงๆ) และดิจิตอลซูม (เมื่อเราใช้ออปติคอลซูมจนสุดจะเป็นดิจิตอลซูมต่อ มันคือการขยายภาพขึ้นมา เมื่อขยายมากๆภาพจะไม่ค่อยละเอียด) กล้องคอมแพคส่วนใหญ่จะใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กกว่า กล้องมิเรอร์เลส (APS-C) แต่จะใหญ่กว่าเซนเซอร์กล้องโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วจะได้ภาพที่มีคุณภาพดีกว่าถ่ายจากกล้องมือถือ มีกล้องคอมแพคระดับ Hi-end บางรุ่นที่ใช้เซนเซอร์ APS-C และเซนเซอร์ฟูลเฟรม ใช้เลนส์ที่มีคุณภาพดีแต่ก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย

กล้องคอมแพคโดยทั่วไปเน้นการใช้งานง่าย ไม่ต้องตั้งค่าอะไรให้ยุ่งยาก มีโหมดถ่ายภาพแบบต่างให้เลือกใช้ได้เลย มี Wi-Fi ส่งรูปเข้าสมาร์ทโฟนหรือสั่งปริ้นรูปจากปริ้นเตอร์ได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านคอมพิวเตอร์ได้เลย

แนะนำกล้อง Compact

Canon Compact

เราขอออกตัวก่อนว่าเราไม่มีกล้องคอมแพค ส่วนรูปกล้องคอมแพคที่เห็นเรายืมที่ร้านมาถ่ายประกอบบทความนี้เฉยๆ

รูปทั้งหมดที่เห็นในบล็อคจะมาจากกล้อง Canon 6D และ Fuji X-E2 เป็นหลัก ส่วนกล้องฟิล์มก็จะมีลงบ้าง ใครที่สนใจรูปจากกล้องฟิล์ม ให้ดูจากฟิล์มที่เราใช้เพราะว่ากล้องอะไรก็เหมือนกัน


กล้องโพลารอยด์


แถมอีกอันละกัน กล้องถ่ายรูป ที่เห็นข้างล่างเป็นกล้องโพลารอยด์ Fuji instax mini8 คือไม่ต้องคิดอะไรมาก point & shoot แล้วรูปก็เด้งออกมา รอสักแป๊ปไม่ต้องสะบัดรูปก็ได้ เดี๋ยวรูปมันก็ชัดเอง สะบัดรูปไม่ได้ช่วยให้รูปชัดเร็วขึ้นนะ เราได้แรงบัลดาลใจในการใช้กล้องโพลารอยด์มาจากสองสาวเกาหลี ที่ให้รูปโพลารอยด์เรามาตอนที่เราไปเที่ยวเกาะนามิ พอกลับมาไทยก็ไปหาซื้อมาถ่ายเล่นเลย

แนะนำกล้อง กล้องโพลารอยด์

Fuji instax mini8

เอาละ พอแค่นี้ละกัน บทความนี้เราหวังว่าจะทำให้หลายคนเข้าใจเรื่องประเภทของ กล้องถ่ายรูป ไม่มากก็น้อย จะได้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อกล้อง สำหรับคนที่อยากได้กล้องตัวแรก เมื่อมีกล้องแล้วอย่าลืม สะพายกล้อง ออกไปเที่ยวกันนะ


Previous Post
Next Post

8 thoughts on “แนะนำกล้อง แต่ละประเภท

  1. เป็นประโยชน์มากกกกกก ขอบคุณนะ

  2. เข้าใจง่ายดีค่ะ ช่วยแนะนำเพิ่มเติมหน่อยสิคะ
    1. ตอนนี้ อยากได้กล้องดิจิตอลมือสอง งบไม่เกิน 15000 บาท
    ถ้าถูกกว่านั้นก็ดี ขอเป็นนิคอน จะเอาไว้รับงานถ่ายรูปค่ะ
    2. ใน web มีคนแนะนำ โกดัก dcs pro 14n
    9000-15000 บาทใน ebay น่าซื้้อไหมคะ
    3. อยากให้เป็นกล้องดิจิตอลที่ใส่เลนส์เก่า ของนิคอน fe กล้องฟิล์มได้ เพราะมีเลนส์
    ทั้ง Zoom 80-200, tele100, wide และmacro ที่อยากเอากลับมาใช้ด้วย

  3. ต้องขอโทษด้วยจริงๆค่ะ เราไม่รู้รายละเอียดกล้องแต่ละตัวมากพอที่จะช่วยให้ความเห็นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.